วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เคยรู้เรื่องของกี๋บ้างไหมครับ?

กี๋ (Ghi) คือวัสดุที่ทำจากดินเหนียว มีหลายรูปทรง ใช้รองรับเครื่องปั้นดินเผาเวลาเรียงเข้าเตา เพื่อไม่ให้ภาชนะติดกัน สำหรับเตาศรีสัชนาลัยนิยมใช้กี๋ทรงกระบอก และไม่วางภาชนะซ้อนกัน (ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา, หนังสือชุด แผนที่ความรู้เมืองไทย : เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย, บริษัท แปลน โมทิฟ จำกัด : กรุงเทพมหานคร, 2546.

ในสมัย ร.๕ มีร้านค้าและหาบเร่ของจีนทั่วเมือง แบ่งเป็นพวกขายกลางวันและกลางคืน พวกขายกลางวันอยู่ร้านตึกแถวเรียก “ร้านข้าวแกง” ถ้าเป็นร้านใหญ่สองห้อง อาหารมีข้าวสวย ข้าวต้ม น้ำชา และเครื่องดื่ม ข้าวสวยคือ ข้าวสวยกับแกงเผ็ด แกงเย็ดนั้นเป็นแกงเนื้อน้ำใสๆ ต้องซื้อข้าวชามหนึ่งกับแกงชามหนึ่ง (ไม่ใส่รวมกันอย่างปัจจุบันเรียกข้าวราดแกง) มีแกงอย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี ตามปกติสำหรับคนไทยซื้อกิน เป็นชาวบ้านบ้าง คนจรบ้าง หรือพวก “เทวดาเดินดินกินข้าวแกง” ตามที่เล่ามาแล้ว คนจีนไม่กิน แต่เท่าที่เป็นมีคนกินน้อย ข้าวต้ม คือ ข้าวต้ม (แปะม้วย) กับเครื่อง มีลูกหนำเลี้ยบ ผักกาดเค็ม ไข่เค็ม ฯลฯ สำหรับคนจีนกิน ไทยยังพูดกันเป็นภาษาจีนว่า “เจียะปึ้งข้าวสวย เจียะม้วยข้าวต้ม”
น้ำชา คือ น้ำชาจีนกับเครื่องจันอับ มีถั่วตัด งาตัด ฟักเชื่อม ข้าวพอง ถั่วเคลือบน้ำตาล เขาจะชงชาให้กาหนึ่งพร้อมกับถ้วยสี่ห้าใบรินกินกับเครื่องจันอับแล้วแต่จะชอบ พวกลากรถเจ๊กกินมากเหมือนเครื่องว่าง คนไทยไม่ค่อยมี เครื่องดื่มมีน้ำมะเน็ด (เพี้ยนมาจาก lemonade) น้ำขิง (จิงเจอร์เอล) ใส่ขวดที่ปากขวดมียางเป็นวงกลมอยู่ข้างใน มีลูกแก้วกลมๆ อุดติดกับยาง เวลาเปิดใช้ท่อนไม้เล็กๆ ดัน (ใช้หลอดด้ายเย็บจักรที่ใช้แล้ว ตัดเสียข้างหนึ่งเป็นเหมาะที่สุด) กดไม้ลงไปแรงๆ ลูกแล้วก็หลุดจากยางตกลงไปติดอยู่ที่คอคอดของขวด รินน้ำกินได้เป็นของฝรั่ง (เหมือนชื่อห้างเฟรเซอร์แอนด์นีฟ น้ำอัดลมแบบปัจจุบันยังไม่เกิด) บางคนนิ้วแข็งๆ เอานิ้วหัวแม่มือซ้ายกด เอามือขวากระแทกลงไปลูกแก้วก็หลุดได้
กับกาแฟร้อน (ไทยเรียกข้าวแฝ่) ไม่ใส่นม (ดูเหมือนนมกระป๋องจะยังไม่มี) แต่ชงโก้ดีคือใส่ถ้วยหู มีจานรอง (ไม่มีถ้วยแก้วอย่างปัจจุบัน) เวลากินตามที่เห็นแทบทุกคนตลอดจนข้าพเจ้า ต้องรินกาแฟร้อนลงใส่จานรอง แล้วจิบกินจากจานรองจนกว่าจะหมด พวกเครื่องดื่มเหล่านี้คนจีนไม่กินเลย แต่ก็น้อยที่สุด
ร้านอาหารหรือร้านข้าวแกงใหญ่ขายรวมกันดังกล่าวมานี้ ร้านข้าวแกงรองลงมาเป็นร้านเล็กห้องเดียว ขายข้างแกงอย่างเดียวกับร้านใหญ่ แต่มักมีเกาเหลาขายด้วย ลางทีก็มีหมี่ผัด ข้าวต้มขายเฉพาะข้าวต้มหมูน้ำใสๆ แบบเดียวกับข้าวต้มปลาในคลองบางหลวง นอกจากนี้ไม่ขายน้ำชาและเครื่องดื่มเลย ร้านข้าวแกงใหญ่ส่วนมากขายตลอดไปจนกลางคืน ร้านเล็กค่ำลงก็ปิดแล้ว
พวกหาบเร่มีก๋วยเตี๋ยวบะหมี่ ไม่ใส่เครื่องมากเหมือนปัจจุบันแต่กินอร่อย ปอเปี๊ยะหาบใหญ่เท่าๆ หาบก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ ตือฮวน มีไส้กรอกข้าวจิ้มน้ำหวานๆ ไส้กรอกเนื้อจิ้มน้ำเปรี้ยวๆ เค็มๆ เผ็ดๆ เต้าหู้ทอดมีน้ำจิ้ม ขนมผักกาดผัด หอยแมลงภู่ผัด ขายซาลาเปาไส้หวานไส้เค็ม ขายเฉาก๊วย ขายเต้าทึง เต้าส่วน ลูกบัวราดน้ำกะทิ ขายปาท่องโก๋ อิ้วจาก้วย ขาดตังเมเป็นชิ้นๆ ตังเมอย่างนี้ทำเป็นแผ่นเรียบไปเต็มกระด้ง เจ๊กทูนหัวขาย เวลามีคนซื้อก็เอาเหล็กสกัดคมๆ เหมือนสิ่ววางบนตังเม เอาเหล็กอีกท่อนตีเหล็กสกัดตัดตังเมเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่กระดาษขายตามแต่ซื้อ ฬสหนึ่งหรืออัฐหนึ่งราวสี่ชิ้น ขายตังเมหลอดที่ทำเป็นแท่งกลมๆ ยาวๆ ติดกันเป็นแพ มีแป้งกลมๆ บางๆ ม้วนห่อเป็นอันๆ ไป ขายลูกสมอ (เมืองจีน) เขาจะใสหีบหรือลังสังกะสีใบย่อมๆ คล้องคอ เดินเป่าปี่ขายไปเรื่อยๆ ขายลูกเกาลัด บางหาบมีกระทะใส่ทรายคั่วลูกเกาลัดไปด้วย
ขายไอศกรีมซึ่งมักเรียกว่า “ไอติม” มีหาบข้างหนึ่งเป็นถังไม้กลมสูงราว 2 ศอก ปากกว้างเกือบศอก มีลองในเป็นสังกะสี เวลาทำไอติม เจ๊กเอาน้ำตาลทรายใส่ในลองใน เอาน้ำแข็งก้อนย่อมๆ ใส่ระหว่างถังไม้กับลองใน แล้วโรยเกลือกลงไป แสดงว่าเจ๊กขายไอติมรู้วิชาวิทยาศาสตร์ด้วย ใส่ก้อนน้ำแข็งรอบๆ จนเกือบเต็มถัง แล้วจับลองในหมุนไปรอบๆ นานพอสมควรน้ำตาลทรายในลองในนั้นงวดข้นจนเกือบแข็ง ก็ตักใส่ถ้วยแก้วขาย ในไอติมใส่เนื้อมะพร้าวชิ้นเล็กๆ และถั่วลิสงด้วย หาบอีกข้างเป็นที่ใส่น้ำตาลทราย น้ำแข็ง เกลือเม็ด เป็นช่องๆ ไป สำหรับไอติมต่อไปคือไอติมน้ำแข็งกด คือเขามีม้าเล็กๆ ยาวราวเกือบคืบเศษ กว้างราวฝ่ามือ มีเหล็กคมเหมือนสิ่ว ติดให้ส่วนคมขวางอยู่ตรงกึ่งกลางเอาน้ำแข็งก้อนสี่เหลี่ยมพอดีกับม้าขึ้นวาง แล้วขูดหรือไสให้น้ำแข็งออกชิ้นละเอียด เอาถ้วยแก้วรอง แล้วกดน้ำแข็งที่ขูดนั้นให้ติดแน่นกับถ้วยแก้วเอาน้ำหวานสีเขียวบ้างแดงบ้างราดลงไป เสร็จแล้วถอดน้ำแข็งออกตามรูปถ้วย ขายให้ดูดกิน ขายปลาหมึกใหญ่ ๆ มีน้ำจิ้ม
ส่วนพวกที่ขายเวลากลางคืน มีข้าวต้ม (แปะม้วย) กินกับเครื่องข้าวต้มเหมือนที่ขายตามตึกแถวกลางวัน แต่พวกนี้ไม่ได้ตั้งร้านประจำเป็นแต่ทำเหมือนแผงลอยมีหลังคาผ้าหนาๆ ม้ายาวตั้งหน้าแผงหรือข้างๆแผงสำหรับนั่งกิน ซึ่งมักนั่งยองๆ กินเรียกกันว่า “ข้าวต้มกุ๊ย” แผงส่วนใหญ่ตั้งในที่เป็นช่องหรือที่ว่างริมถนน เรียกสั้นๆว่า “ยองยองเหลา” ที่มีชื่อก็คือขายเกี๊ยว มีไม้เล็กๆ ท่อนหนึ่งกับท่อนไม้สั้นๆ ท่อนหนึ่ง เคาะกันดังป๊อกแป๊กเป็นระยะ ใครได้ยินก็รู้ว่าเกี๊ยวมา เกี๊ยวสมัยนั้นน้ำใสไม่มีเครื่องอะไรมาก แต่กินอร่อยกว่าปัจจุบันมาก (คงเพราะใช้น้ำปลาดี ซึ่งสมัยนั้นน้ำปลาดีแล้วดีจริงๆ กินข้าวคลุกน้ำปลาได้ ผิดกับสมัยนี้ซึ่งแม้น้ำปลาดีก็เค็มปี๋ นานมาแล้ว น.ม.ส. เคยทรงเขียนไว้ว่า “น้ำปลาโอชารส มาดแม้นมดหมดเมืองมา ได้ลิ้มชิมน้ำปลา จักดูดดื่มลืมน้ำตาล” ซึ่งใกล้ความจริง) แต่ก็มีหาบเร่เกี๊ยวเจ้าหนึ่งใส่อะไรไม่ทราบเป็นก้อนท่อนสั้นๆ เรียกว่า “หอยฮังฮือจู๋” กินอร่อยมาก
ต่อมาราวสี่หน้าทุ่ม มีหายขายข้าวกับเป็ดย่างเรียกว่า “เสียโป” มามีข้าวถ้วยเล็กๆ กับเป็นย่างหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ราวสี่ห้าชิ้นอีกจาน เจ๊กขายเสียโปนี้ถ้าออกขายใหม่ๆ ไม่ชำนาญมักจะโดน “เป็ดเหาะ” คือคนกินเรียกเข้าไปนั้งใต้ต้นไม้แล้วอีกคนก็เข้ามานั่งกินอีก ระหว่างรอคนนั่งกินเสร็จเจ๊กก็สูบยาแดงบ้าง หรือก็ไปดูไฟที่หม้อข้าวในขณะที่เผลอนั้น จะมีเชือกผูกก้อนอิฐเลื่อนลงมาจากกิ่งไม้ คนกินจะเอาบ่วงที่ผูกก้อนอิฐนั้นเองสวมปุบเข้าที่ขาเป็ด เจ๊กเหลียวมาเป็นเป็ดเหาะขึ้นไปเสียแล้ว เห็นคนหนึ่งวิ่งไปจะวิ่งตามก็ไม่ได้ เดี๋ยวที่หาบจะไปอีก ไล่กับเวลานี้ก็มีเจ๊กขายข้าวมันผักกาดเค็ม ข้าวมันไม่ใช่ข้าวมันไทย เป็นข้าวมันสีเหลืองๆ ร่วน ไม่จับเป็นก้อน หัวผักกาดเค็มสับเป็นชิ้นเล็กๆ คละไปกับข้าวมัน กินอร่อยชอบกลดี นอกจากนี้ยังมี “คางยั่นเต๊” เป็นน้ำสีขาวๆ กินเหมือนกลิ่นเรือดแต่มีรสหวานปะแล่มๆ พวกขายของกลางคืนยังมีอีกอย่างซึ่งคนชอบกินกันมาก เรียกว่า “เกี้ยมซึงตี” หาบเกี้ยมซึงตีนี้มักออกขายในตอนเย็นจวนค่ำ แล้วขายไปเรื่อยๆ ถึงตอนกลางคืน ในหาบมีของกินเบ็ดเตล็ดมากเต็มหาบใหญ่ มีเม็ดแตงโมจิ้มดูดเป็นกระปุกเล็กๆ มีฝากระดาษปิดสนิท ข้างในกระปุกมีเม็ดเล็กๆ เต็มกระปุก รสเปรี้ยวๆ เค็มๆ เวลากินต้องเอาไม้เล็กสั้นๆ จิ้มเอาเม็ดออกมากินทีละเม็ด คนไทยเรียกว่า “จิ้มดูด” มีลูกบ๊วย มีมะฝ่อ มีลูกพลับแห้ง มีแห้วจีนซึ่งปอกเปลือกเสร็จเสียบไม้ ไม้ราวห้าหกหัววางแช่ไว้ในกระบะสังกะสีซึ่งมีน้ำหล่อตลอดเวลา หากมีลูกไหน (โตเท่าผลพุทรา) คำว่าลูกไหนทำให้เจ๊กกับไทยแทบตีกันบ่อย ไทยไปที่หาบเกี้ยมซึงตี มองๆ แล้วชี้ไปลูกไหน เจ๊กเข้าใจว่าถามก็บอก “ลูกไหน” ไทยก็บอก “ลูกนี้” พอดีพอร้ายก็วางมวยกันต่อคนเข้าใจไปอธิบายก็ไม่รู้เรื่อง มีเกี้ยมบ๊วย ล้นจี่แห้ง (ของจีน) และอะไรต่ออะไรอีกเป็นภาษาจีนเรียกไม่ค่อยถูกคนซื้อกินเล่นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
สรุปความว่าของกินอิ่มกินเล่นที่จีนขายมีทั้งวัน ตั้งแต่ราคาฬสขึ้นไปถึงอัฐและไพ (ราว ๓ สตางค์) เท่านั้นเอง อย่างแพงสุดไม่เกิน ๒ ไพ (ราว๕สตางค์) สมัยอยู่คลองบางหลวงได้กินแต่ของไทยขนมไทย แต่พอมาอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ของกินเป็นของจีนต่างๆ ล้วนแต่เจ๊กตั้งร้านและหายเร่ขายไปทั่วเมือง (กาญจนาคพันธุ์, ๑๐๐ ปีขุนวิจิตรมาตรา กรุงเทพฯเมื่อวานนี้, พิมพ์ครั้งที่ ๔, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔), ๒๕๔๕. หน้า ๒๐๙-๒๑๕)

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ผ่าน blog นี้ได้ตลอด 24 ชม. เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และระบบการปฏิบัติราชการภายในคณะฯ